วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2552




ป้าเนื่อง”

ศิลปินช่างทองโบราณคนสุดท้ายของเมืองเพชร
“เขาวังคู่บ้าน ขนมหวานเมืองพระ

เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม”

เป็นคำขวัญประจำจังหวัดที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของเมืองเพชรได้อย่างชัดเจน เพราะผู้ที่รู้จักเพชรบุรีย่อมทราบดีว่าที่นี่เป็นแหล่งศิลปะที่สำคัญแหล่งหนึ่งของประเทศ ช่างฝีมือสกุลต่าง ๆ ของเพชรบุรีได้สร้างสรรค์งานฝีมือไว้เป็นมรดกแก่ชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะงานศิลปหัตถกรรมเครื่องทองรูปพรรณแบบโบราณ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นผลงานด้านหัตถศิลป์ที่มีคุณค่า มีความประณีต งดงาม แสดงถึงเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญาผสมผสานกับฝีมือของช่างทอง เป็นความภาคภูมิใจของชาวเพชรบุรี และเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรแก่การยกย่องสืบสานต่อไป
แต่ปัจจุบันช่างทองโบราณที่ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากครูช่างทองโดยตรงเป็นคนสุดท้าย และยังคงทำทองอยู่ อาจกล่าวได้ว่าเหลือเพียงผู้เดียว คือ นางเนื่อง แฝงสีคำ หรือ “ป้าเนื่อง” ของชาวเพชรบุรีนั่นเอง
ก่อนจะ “ตามไปดู” ป้าเนื่องทำทอง ผู้เขียนขอเล่าถึงความเป็นมาของช่างทองเมืองเพชร ซึ่งเก็บความมาจากงานวิจัยเรื่อง “ศิลปหัตถกรรมช่างทองเมืองเพชร : ความเป็นมาและสภาพปัจจุบัน” ของรองศาสตราจารย์วัฒนะ จูฑะวิภาต (๒๕๓๗ : ๒๓-๓๘) ดังนี้


ช่างทองเมืองเพชรบุรี

เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าตั้งแต่ครั้งอาณาจักรฟูนัน ทวารวดี มีกษัตริย์ปกครองสืบต่อกันหลายพระองค์ และสันนิษฐานว่ากษัตริย์จากเมืองเพชรบุรีนี้ ต่อมาอพยพไปก่อตั้งเมืองอยุธยา ณ หนองโสน ในสมัยกรุงสุโขทัยและอยุธยาก็ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าเพชรบุรีเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งทางแถบตะวันตก จนกระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เพชรบุรีเป็นเมืองซึ่งมีกษัตริย์ถึง ๓ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระนครคีรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระรามราชนิเวศน์หรือพระราชวังบ้านปืน และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เพชรบุรีจึงเป็นเมืองที่มีช่างหลากหลายสาขามาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ไว้เป็นระยะเวลานานแล้ว ประกอบกับสมัยต่อมาวัดในเพชรบุรีกลายเป็นแหล่งถ่ายทอดศิลปวิทยาการ รวมทั้งงานช่างสาขาต่าง ๆ แก่ชุมชน เช่น การเขียน การปั้น การแกะสลัก ฯลฯ วัดดังกล่าว ได้แก่ วัดเกาะแก้วสุทธาราม หรือวัดเกาะ วัดพลับพลาชัย วัดพระทรง วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นต้น
งานเครื่องทองโบราณของเมืองเพชรนั้น เริ่มจากในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีช่างสิบหมู่หลายสาขาจากเมืองหลวงรวมทั้งช่างทอง ได้มาอาศัยอยู่ ณ เมืองเพชรบุรี เพื่อก่อสร้างพระราชวังเป็นเวลานาน ดังนั้น ช่างพื้นบ้านเพชรบุรีที่ไปเป็นลูกมือหรือผู้ช่วยช่างหลวง จึงมีโอกาสได้รับการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์พิเศษดังกล่าว นำไปถ่ายทอดฝีมือผ่านช่างแต่ละรุ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เครื่องทองเมืองเพชรกลายเป็นศิลปหัตถกรรมล้ำค่าที่มีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว ยากจะหาจากที่ใดเสมอเหมือน เพราะเป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ผสมผสานความงดงามของธรรมชาติ และประโยชน์ใช้สอยของทองไว้อย่างกลมกลืน สมบูรณ์แบบ จึงมีความงดงามอันทรงคุณค่า จนทำให้เครื่องทองเมืองเพชรบุรีกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่ายิ่งของชาติ
ช่างทองที่ปรากฏหลักฐานคนแรกของจังหวัดเพชรบุรี คือ นายหวน ตาลวันนา ท่าน เป็นศิษย์ของพระอาจารย์ฤทธิ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับพลาชัย ซึ่งเป็นศิษย์ของขรัวอินโข่งจิตรกรชาวเพชรบุรีที่มีชื่อเสียงเด่นที่สุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายหวน มีความสามารถในการทำทองรูปพรรณและแกะสลักลวดลายได้ทุกอย่าง ท่านรับทำทองอยู่กับบ้านประมาณ ๓๐ ปี จึงเลิกทำ นอกจากนี้นายหวนยังมีความสามารถทางด้านการเขียนภาพด้วย ท่านให้ความเห็นว่า “งานช่างของไทยถ้าเขียนเป็นก็ทำงานช่างอื่น ๆ ได้ทุกอย่าง” เพราะการที่ท่านมีพื้นความรู้และทักษะทางด้านการเขียนภาพมาก่อน ทำให้การเรียนรู้งานช่างในสาขาช่างทองง่ายขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งว่าไม่มีผู้ใดสืบทอดการทำทองรูปพรรณในตระกูลช่างสายนี้เลย
การถ่ายทอดงานช่างทองเมืองเพชรมักสอนแก่คนในครอบครัว และผู้ที่มีใจรักในศิลปะการทำทองรูปพรรณ ช่างทองคนไทยที่สืบสานงานศิลปหัตถกรรมเครื่องทองจนเป็นที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมา เป็นช่างทองที่อาศัยอยู่แถบหัวถนนพานิชย์เจริญ คือ ช่างทองตระกูล “สุวรรณช่าง” ตระกูล “ทองสัมฤทธิ์” ซึ่งเกี่ยวดองกับตระกูล “ชูบดินทร์” ตระกูลช่างทองเหล่านี้ได้ถ่ายทอดความรู้ด้านงานช่างทองแก่ลูกหลานและศิษย์ไว้หลายคน แต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว บางคนก็อายุมากและสุขภาพไม่ดีจึงเลิกทำทอง มีแต่ นางเนื่อง แฝงสีคำ ช่างทองเชื้อสายตระกูล “ชูบดินทร์” เพียงคนเดียวที่ยังคงทำทองอยู่จนถึงปัจจุบัน (วัฒนะ จูฑะวิภาต ๒๕๓๕ : ๖๑-๖๓)


“ทองป้าเนื่อง”


ผู้ที่สัญจรไปมาแถบหัวถนนพานิชย์เจริญ ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริเวณวัดเกาะแก้วสุทธารามจนถึงตรอกท่าช่อง จะต้องผ่านห้องแถวไม้สองชั้นที่ตั้งอยู่สองฟากถนน หากมองไปทางซ้ายมือจะพบว่ามีเพียงห้องสุดท้ายเพียงห้องเดียวที่เปิดประตูกว้างไว้รับแขกทุกวัน และที่ผนังบ้านเกือบสุดห้องที่เปิดเป็นหน้าต่างแคบ ๆ บานยาวมีโต๊ะทำทองตั้งอยู่ หลังโต๊ะตัวนั้นจะเห็นหญิงชรารูปร่างสมบูรณ์หน้าตาใจดี สวมแว่นตาหนาเตอะ นั่งก้มหน้าก้มตาทำทองอยู่เป็นประจำ หญิงชราผู้นี้คือ นางเนื่อง แฝงสีคำ หรือที่คนเมืองเพชรมักจะเรียกขานท่านด้วยความคุ้นเคยว่า “ป้าเนื่อง” หรือ “ยายเนื่อง” ศิลปินพื้นบ้านสาขาหัตถศิลป์ ด้านช่างทองโบราณ ซึ่งได้รับการประกาศยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๑
ป้าเนื่องเป็นช่างทองโบราณของเพชรบุรีผู้มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือ และนิยมในหมู่ผู้ชื่นชอบเครื่องทองที่มีรูปแบบลวดลายเครื่องทองโบราณ ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานที่สวยงามยอดเยี่ยม ฝากไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบทอดมาตลอดระยะเวลาอันยาวนานหลายสิบปี
บ้านของป้าเนื่องจะเปิดประตูตั้งแต่ช่วงเช้าถึงประมาณหกโมงเย็น ด้านที่ป้าเนื่องนั่งทำงานจะเป็นยกพื้นสูงขึ้นมาสูงประมาณเอว ด้านบนทำเป็นช่อง ๆ มีไม้กระดานปิดไว้ ด้านล่างจึงกลายเป็นที่เก็บของสามารถเก็บเครื่องมือไว้ได้ เมื่อจะทำทองก็เปิดฝาไม้กระดานขึ้นและนั่งห้อยเท้าลงไปเหมือนนั่งเก้าอี้ ป้าเนื่องจะนั่งอยู่ด้านที่ติดถนน ซึ่งเปิดฝาไม้เป็นช่องหน้าต่างไว้ ผู้ที่ผ่านไปมาจึงสามารถมองเห็นป้านั่งทำทองได้
ป้าเนื่อง เป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๔๕๗ ที่บ้านเลขที่ ๒๙๔ ถนนพานิชเจริญ ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี นามสกุลเดิม ชูบดินทร์ สามีของป้าคือลุงพร แฝงสีคำปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว มีลูกทั้งหมด ๖ คน มีลูกสาวคนเดียวคือ นางสาวมณฑา แฝงสีคำ หรือพี่ติ๋ว ซึ่งได้สืบทอดวิชาการทำทองและมีอาชีพเป็นช่างทองคู่กับป้ามาจนถึงทุกวันนี้ ลูกของป้าล้วนประกอบสัมมาชีพและมีตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นหลักฐานมั่นคงทุกคน
แม้ว่าป้าเนื่องจะมีอายุมากแล้ว แต่ยังคงทำทองอยู่ทุกวันโดยไม่มีวันหยุด และตั้งใจว่าจะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าสังขารจะไม่อำนวย โดยใช้กรรมวิธีทำทองรูปพรรณและเครื่องประดับตามแบบโบราณ คือเป็นงาน “ศิลปหัตถกรรม” อย่างแท้จริง ไม่ได้ใช้เครื่องจักรช่วยแต่อย่างใด งานของป้าเนื่องจึงยังคงดำรงคุณค่าอันเนื่องมาจาก “ฝีมือ” ที่ไม่อาจมีใครเทียบเคียง แต่ละวันจะมีลูกค้าจากที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาสั่งทำทองอยู่มิได้ว่างเว้น แม้ราคาทองจะสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ แต่ป้าบอกว่ากลับมีคนมาสั่งทองเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะทองเป็นเครื่องประดับที่ราคาและคุณค่ามิได้ลดลงตามกาลเวลา โดยเฉพาะงานฝีมืออย่างเช่นทองป้าเนื่อง
สาเหตุสำคัญนอกเหนือจากฝีมือที่ทำให้ทองป้าเนื่องยังคงเป็นที่ต้องการของลูกค้าตลอดมาก็คือ ป้าเนื่องทำงานทุกชิ้นด้วยความตั้งใจและมีความสนุกในการทำงาน เมื่อผลงานสำเร็จได้รับคำชมเชยก็จะภูมิใจและมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น พยายามปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้นเรื่อยมา ความประณีตของผลงานจึงเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาลูกค้า ผู้ที่เคยมาสั่งทำแล้วจะกลับมาอีกทุกครั้งที่มีโอกาส ลักษณะเด่นของทองรูปพรรณของท่าน เป็นการผสมผสานระหว่างงานช่างกับศิลปะอย่างสมดุล คือเป็นผลงานที่เกิดจากความรู้ ผสานกับอารมณ์ ความรู้สึกและใจรัก งานทุกชิ้นจึงมีความเป็นตัวของตัวเอง ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งสร้างสรรค์ ไม่เลียนแบบผู้ใดและมีความประณีตงดงามอย่างไม่เป็นที่สองรองใคร
ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่มีโอกาสได้ชื่นชมฝีมือการทำทองของป้าเนื่องอย่างใกล้ชิดหลายครั้ง เคยสัมภาษณ์ และแวะเยี่ยมเยียนพูดคุยบ้างในบางโอกาสที่ว่างเว้นจากภารกิจการงาน จึงค่อนข้างจะมีความคุ้นเคยกับป้าและพี่ติ๋วเป็นอย่างดี มีงานฝีมือของป้าเนื่องเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเล็กน้อยตามกำลังทรัพย์ที่มีอยู่ อาจกล่าวได้ว่าในหมู่ผู้ที่สนใจในเครื่องทองรูปพรรณ ใครที่มีงานฝีมือของป้าเนื่องไว้ในครอบครองย่อมสามารถคุยอวดกันได้เต็มปาก ส่วนผู้ที่ยังไม่มีก็ต้องพยายามขวนขวายหามาเก็บไว้บ้างสักชิ้น สองชิ้นก็ยังดี เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะได้งานฝีมือของป้าเนื่องมาเป็นเจ้าของ เนื่องจากงานฝีมือของท่านเป็นงานศิลปะ ต้องใช้ความอดทนที่จะรอคอย เพราะผู้ที่รังสรรค์งานศิลปะโดยเฉพาะศิลปหัตถกรรมโบราณคือ ศิลปิน การจะรังสรรค์ชิ้นงานให้ใครย่อมมีความพึงพอใจเข้ามาข้องเกี่ยวด้วยอย่างสำคัญ และด้วยอายุที่มากถึง ๙๑ ปี การนั่งทำทองทุกวันนี้จึงมิใช่เป็นไปเพื่อเลี้ยงชีพ และย่อมมิใช่งานพานิชย์ศิลป์หากแต่เพราะการทำทอง “คือชีวิต”
ป้าเนื่องเป็นหญิงชรารูปร่างค่อนข้างสมบูรณ์ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส และหัวเราะเสมอ ใจเย็น ใจดี ช่างคุย มีมนุษยสัมพันธ์ดี จัดได้ว่ามีสุขภาพแข็งแรงกว่าคนในวัยเดียวกันส่วนมาก ยังสามารถทำงานได้ทุกวันอย่างสม่ำเสมอ มีเพียงสายตาที่เสื่อมไปตามวัย ต้องสวมแว่นสายตาค่อนข้างหนา แต่ก็ยังคงทำงานได้อย่างละเอียด ประณีต ไม่เคยเจ็บไข้ได้ป่วยรุนแรง นอกจากเป็นหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ขาไม่ค่อยดี มักไม่ค่อยได้เดินเหินไกล ๆ ส่วนใหญ่จะนั่งห้อยเท้าทำงานทั้งวัน ป้าบอกว่าโชคดีที่ไม่ปวดหลังไม่เช่นนั้นคงนั่งทำงานไม่ได้
ในวัยนี้ป้าเนื่องยังคงมีความจำเป็นเลิศ สามารถจดจำเรื่องราวครั้งเก่าก่อนตั้งแต่สมัยสาว ๆ และเล่าได้อย่างสนุกสนาน ป้าเนื่องเป็นผู้สูงอายุที่ทันสมัยมาก ชอบอ่านหนังสือและต้องอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน รวมทั้งฟังข่าว ฟังรายการต่าง ๆ ทางวิทยุในระหว่างที่ทำงานไปด้วย ป้าบอกว่า “ฉันเรียนน้อย แต่ฉันชอบอ่านหนังสือ” ป้าจึงสามารถพูดคุยถึงเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบันได้อย่างทันโลกทันเหตุการณ์ เท่าที่ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับป้าหลายครั้ง จะเห็นได้ชัดว่าป้ายังไม่มีอาการหลงหรือเลอะเลือนเลยแม้แต่น้อย และทุกครั้งที่พบกันป้าก็จะทักทายผู้เขียนด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ
การทำงานของป้าเนื่องมักเริ่มในเวลาประมาณเกือบ ๆ เที่ยงหรือเที่ยงเศษ ไปจนกระทั่งถึงประมาณ ๕– ๖ โมงเย็น เพราะช่วงเช้าป้าต้องหยอดตา พักผ่อนและอ่านหนังสือพิมพ์ ป้าจะนั่งทำทองไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีคนมาพูดคุย ประมาณบ่ายสองโมงก็จะหยุดพักรับประทานอาหาร หลังจากนั้นอาจจะพักผ่อนอ่านหนังสือพิมพ์ หรือพักสายตาอีกสักครู่หนึ่ง แล้วจึงลงมือทำทองต่อจนราว ๆ ๖ โมงเย็นจึงเลิกทำ เพราะป้าบอกว่าในช่วงแรก ๆ ที่ลงมือทำงานบางทีเส้นเอ็นยังยึดจะทำงานไม่ค่อยคล่องแต่พอนาน ๆ ไปจนถึงเวลาเย็นมือไม้จะคล่องดี จึงทำงานต่อจนถึงเย็น
ป้าเนื่องเล่าให้ฟังว่ามีพี่น้อง ๖ คน ป้าเป็นคนที่ ๓ คนอื่น ๆ เรียนหนังสือ เป็นครูบ้าง เป็นหมอบ้าง แต่ทุกคนก็มีฝีมือทางด้านช่างไปคนละอย่างสองอย่าง เรียกว่าความเป็นช่างมีอยู่ในสายเลือดของคนในตระกูลป้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษทีเดียว พี่น้องของป้าเนื่องเป็นผู้หญิง ๔ คน แต่มีป้าเนื่องคนเดียวที่หัดทำทอง เพราะมีใจรักทางด้านงานช่างฝีมือมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก่อนหน้าที่จะหัดทำทอง ป้าเนื่องได้หัดตัดผมจนสามารถตัดให้สมาชิกในครอบครัวและใช้ประกอบอาชีพได้ นอกจากนั้นยังหัดทำขนมและเย็บผ้าด้วย
ป้าเริ่มหัดทำทองตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี กับลุงลิบ ชูบดินทร์ และป้าพับ ป้าสะใภ้ซึ่งเป็นช่างทองตระกูลทองสัมฤทธิ์ ลูกศิษย์ซึ่งเคยฝึกทำทองกับป้าพับนอกจากป้าเนื่องก็มี ป้าฉิว ป้าปรุง ป้าหลิน ป้าเลียบ โดยเฉพาะป้าเลียบได้ชื่อว่ามีความประณีตในการทำสร้อยอย่างยิ่ง (วัฒนะ จูฑะวิภาต ๒๕๓๕ : ๖๑-๖๓)
แต่ปัจจุบันเหลือเพียงป้าเนื่องและป้าฉิวที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีป้าเนื่องเพียงคนเดียวที่ยังคงทำทอง ส่วนป้าฉิวซึ่งมีอายุมากกว่าเลิกทำทองไปนานแล้วเพราะสุขภาพไม่ดี คงมีเพียงลูกสาวและลูกเขยสืบทอดการทำทองต่อมา
การฝึกหัดทำทองของป้าเนื่องใช้เวลาถึง ๒ ปี โดยเริ่มจากการหัดทำเงินก่อนจนชำนาญ จึงได้รับอนุญาตให้ทำทอง การฝึกหัดทำทองเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความอดทนสูงและมีใจรักจริง ๆ ถึงจะทำได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะครูที่ถ่ายทอดวิชาให้ละเอียดประณีตมาก ต้องหัดทำไปทีละขั้นตามลำดับ ก่อนจะหัดถักทำเป็นชิ้นงานได้ ก็ต้องเริ่มจากฝึกตีแผ่นเงินจนแผ่แบนบางเป็นกระดาษก่อน จากนั้นจึงมาตัดเป็นเส้น ๆ นำมาม้วนเป็นตะกรุด จึงให้หัดถักสร้อยเกลียวสมอ สร้อยขัดมัน ทำลวดลายทุกอย่างเป็นจนฝีมือเป็นที่พอใจครูจึงจะให้ทำทอง เพราะทองมีราคาสูงจะนำมาใช้หัดทำไม่ได้
หลังจากฝึกหัดจนชำนาญแล้ว ป้าจึงรับทำทองอยู่กับบ้านและมีอาชีพเป็นช่างตัดผมไปด้วย ความที่ป้าเป็นช่างฝีมือที่มีความตั้งใจและทำงานด้วยใจรัก ผลงานจึงได้รับการยอมรับจากลูกค้า และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป จนกระทั่งมีโอกาสได้ทำงานให้บุคคลผู้มีฐานะและตำแหน่งสูง ๆ ในสมัยก่อนหลายท่าน เช่น เจ้าพระยาเทเวศร์สั่งทำเครื่องประดับไปทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เนื่องในวโรกาสวันประสูติ และ พ.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น นำทองจำนวนร้อยบาทมาให้ทำสร้อยตัวถึง ๓ เส้น เป็นต้น
สามีของป้าเนื่อง คือ ลุงพร แฝงสีคำ ทำงานรถไฟ และเมื่อปลดเกษียณป้าเนื่องก็ได้หัดให้ทำทอง จนลุงพรเป็นช่างทองที่มีฝีมือในด้านการทำกรอบเลี่ยมพระอย่างประณีตด้วยผู้หนึ่ง ผู้เขียนเองมีโอกาสได้นำพระไปให้ลุงพรเลี่ยมให้หลายองค์ เพราะฝีมือของท่านมีความละเอียด ประณีตกว่าตามร้านทองทั่วไป ในขณะที่ลุงพรยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้ทำหน้าที่ชักลวดทองให้ป้าเนื่อง ผู้เขียนก็ได้เคยเห็นหลายครั้งเช่นกัน
ปัจจุบันนี้หน้าที่ชักลวดทองเป็นของลูกชายคนโตของป้าเนื่องที่ลาออกจากราชการ เพื่อมาช่วยงานทำทองและดูแลป้าเนื่อง เนื่องจากที่บ้านเหลือแต่ป้าเนื่องและพี่ติ๋วอยู่กันตามลำพัง เพราะพี่น้องคนอื่น ๆ ต่างก็แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพ และมีครอบครัวกันหมด แต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบุรีและหมั่นมาเยี่ยมเยือนป้าอยู่เสมอ
ป้าเนื่องมีฝีมือในด้านการทำทองรูปพรรณทุกรูปแบบ โดยทำตามรูปแบบของทองโบราณที่ทำต่อ ๆ กันมา บางแบบอาจจะมีลูกหลานมาที่นำงานเก่า ๆ ของบรรพบุรุษที่เก็บสะสมไว้มาให้ทำ ป้าเนื่องจึงสามารถทำทองรูปพรรณได้อย่างหลากหลาย แต่ในด้านของการแกะสลัก ฉลุทอง ซึ่งลุงเอี่ยน ชูบดินทร์ พี่ชายของป้ามีฝีมือเป็นที่เลื่องลือ ป้าก็เคยได้ฝึกหัดทำเช่นเดียวกัน แต่ไม่สามารถแกะสลักวาดภาพได้ เพราะป้าบอกว่า “เวลานอนนึกภาพออก แต่มือมันไม่ไป” ป้าจึงมีความถนัดในด้านการทำทองรูปพรรณในแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
ป้าเนื่องได้สั่งสมฝีมือและความชำนาญมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ เคยได้รับการทาบทามให้ไปเป็นช่างทองสอนพวกศิลปาชีพที่ในวังแต่ป้าก็ไม่ไป ยังคงพึงพอใจในการทำงานอยู่ที่บ้านมากกว่า และมีความเห็นว่าคนรุ่นใหม่ใจไม่สู้ เพราะเคยมีคนมาฝึกหัดทำทองแต่ไม่มีความอดทน แค่ฝึกชักลวดก็หนีหมด ป้าจึงไม่ได้สอนใครอีกนอกจากพี่ติ๋ว
เมื่อสอบถามถึงเรื่องค่าแรงในการทำทอง ซึ่งสมัยก่อนคิดเป็นนิ้ว ป้าบอกปัจจุบันคิดเป็นบาท ตกบาทละ ๖๐๐ ซึ่งก็นับว่าเป็นค่าแรงที่ถูกมากเมื่อเทียบกับฝีมือแรงงานที่กว่าจะผลิตชิ้นงานออกมาแต่ละขั้นแต่ละตอน ต้องใช้ความละเอียดประณีตเป็นอย่างยิ่ง
ผู้เขียนเคยถามป้าว่ามีหลักในการทำงานอย่างไร ป้าบอกว่ายึดถือเรื่องความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด และที่ถืออยู่อย่างหนึ่งคือจะไม่ใช้เงินที่ลูกให้มาทำบุญ เงินที่ทำบุญจะมาจากน้ำพักน้ำแรงของป้าเองเท่านั้น ทุกวันนี้ป้าจะตักบาตรที่หน้าบ้านทุกเช้า โดยตักข้าวเปล่าส่วนกับข้าวพี่ติ๋ว จะเป็นคนทำแล้วจัดใส่ปิ่นโต ๓ เถา เถาละ ๓ ชั้นนำไปถวายที่วัด นอกจากนั้นป้าก็จะทำบุญตามโอกาสต่าง ๆ โดยเชื่อว่าการทำความดี กุศลผลบุญย่อมส่งผลให้มีความสุขกาย สุขใจ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ป้าบอกว่า “ฉันลำบากมามาก เลือดตาแทบกระเด็น ชาตินี้ฉันไม่ทำบาปทำกรรมกับใคร ชาติหน้าอธิษฐานว่าอย่าให้ต้องลำบากมากอีก” (สัมภาษณ์นางเนื่อง แฝงสีคำ : กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘)
ป้าเล่าถึงการจัดงานบวชลูกชายทีเดียว ๓ คน รวมทั้งหลานอีกคนหนึ่ง โดยที่ป้าไม่มีเงินเลย และไม่คิดจะรบกวนญาติพี่น้อง แต่แล้วก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง คือ พ.ต.ท.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น นำทองหนึ่งร้อยบาทมาจ้างให้ทำสร้อยตัว จึงได้ค่าแรงพอที่จะบวชลูกชาย เศษทองที่ทำเหลือท่านก็ยกให้ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ป้าภาคภูมิใจมากและเชื่อว่าเป็นผลมาจากการประกอบวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์ และไม่งอมืองอเท้า
เรื่องการไหว้ครู ป้าตอบกว่าเมื่อก่อนที่ลุงเอี่ยน ชูบดินทร์ ซึ่งเป็นพี่ชายยังมีชีวิตอยู่ลุกศิษย์ที่ฝึกหัดทำทองกับตระกูลชูบดินทร์จะไปทำพิธีไหว้ครูที่บ้านลุงเอี่ยนทุกปี ต่อมาเมื่อลุงเอี่ยนถึงแก่กรรมก็ไม่มีการทำพิธีนี้อีก เพราะตระกุลชูบดินทร์ไม่มีใครสืบทอดการทำทองแล้ว ป้าจะใช้วิธีระลึกถึงคุณครูทุกครั้งที่ลงมือทำทอง และเมื่อทำบุญ ตักบาตรทุกครั้งก็จะน้อมจิตอุทิศบุญกุศลแด่ “ครูทอง” ทุกครั้งไป
นอกจากนั้นป้าเนื่องยังได้พูดถึงช่างทองชาวไทยกับช่างชาวจีนว่ามีความแตกต่างกัน ช่างจีนจะมีหัวทางการค้า รู้จักพลิกแพลง คนแซ่เดียวกันจะอุดหนุนเกื้อกูลกันจนสามารถขยายกิจการใหญ่โตและมีฐานะร่ำรวย ขณะที่ช่างคนไทยทำด้วยความภาคภูมิใจในฝีมือเป็นสำคัญ ค่าแรงที่ได้รับค่อนข้างน้อยแต่ก็ทำด้วยใจรัก มักมีความคุ้นเคยกับลูกค้าฉันญาติมิตร จึงต้องใช้ความมานะอดทนและอดออมเป็นอย่างยิ่งกว่าจะสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร ป้าย้ำอยู่อย่างหนึ่งว่า “เชื่อฉัน…ถึงเป็นญาติพี่น้อง ถ้าเราไม่ไปรบกวนเงินทองเขา เขาก็ไม่มาดูถูกเรา ฉันให้อด ให้ลำบากยังไงก็ไม่ไปออกปากรบกวนญาติพี่น้อง” (สัมภาษณ์นางเนื่อง แฝงสีคำ : กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘)
ผู้เขียนได้สอบถามถึงข่าวลือที่ว่า ทุกวันนี้ป้าทำไม่ทันจึงไปจ้างช่างที่ร้านทำบ้าง ป้าตอบว่าส่วนที่จ้างทำคือ งานพิเศษที่ต้องต่อเชื่อมด้วยการใช้น้ำประสานทองแบบแห้งเร็ว ส่วนอื่นนอกจากนั้นจะทำเองทั้งหมด ไม่กล้าให้คนอื่นทำเพราะกลัวเขาเปลี่ยนทอง เนื่องจากทองที่ป้าเนื่องใช้ทำจะเป็นทองพิเศษที่มีความบริสุทธิ์ถึง ๙๙.๙๙ % และป้าก็บอกว่าถ้าให้ที่ร้านทำฝีมือจะไม่เหมือนกัน
ปัจจุบันงานที่ป้าเนื่องทำเป็นหลักอยู่คือ ถักสร้อย ได้แก่ สร้อยสี่เสา หกเสา แปดเสา ส่วนชิ้นงานรูปแบบอื่น ๆ เช่น ลูกสน ปะวะหล่ำ ปิ่น กระดุม ฯลฯ ที่ต้องใช้ส่วนประกอบหลายอย่างจุก ๆ จิก ๆ และบางอย่างก็มีขนาดเล็กมาก ต้องใช้สายตามากกว่าปกติ เช่น ไข่ปลา พี่ติ๋วจะรับหน้าที่เป็นคนทำ ซึ่งฝีมือก็ใกล้เคียงกับป้าเนื่อง เพราะพี่ติ๋วฝึกทำทองกับแม่มาเป็นเวลาร่วม ๓๐ ปีแล้วเช่นกัน
พี่ติ๋วมีความภาคภูมิใจในความเป็นช่างทองโบราณซึ่งเป็นมรดกของตระกูลเป็นอย่างยิ่ง มีความเห็นว่าจะต้องอนุรักษ์และสืบสานต่อไป และยังคงยึดหลักในการทำงานว่าต้องรักษาคุณภาพมากกว่าปริมาณ งานชิ้นไหนที่ทำออกมาถ้าตนเองเห็นว่าไม่สวยจะยุบทำใหม่ทันที คือมีการควบคุมคุณภาพด้วยตนเอง ดังนั้นงานทุกชิ้นจึงไม่เคยได้รับคำตำหนิจากลูกค้า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่พี่ติ๋วเน้นย้ำเช่นเดียวกับป้าเนื่อง คือความซื่อตรงต่อวิชาชีพ พี่ติ๋วบอกว่า “เราต้องรักษาคุณภาพ ทองดีไม่ดีบอกตรง ๆ ไปเลย ไม่มีโกหก มาผสมยังงู้น ยังงี้เราทำไม่ได้ ทำไม่เป็น” (สัมภาษณ์นางสาวมณฑา แฝงสีคำ : กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘)
จากการที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ที่ใช้ทองป้าเนื่อง ทุกคนล้วนแต่มีความประทับใจในงานฝีมือที่ละเอียด ประณีต สวยงามและเชื่อถือในชื่อเสียงของป้าเนื่องว่ามีความซื่อสัตย์ งานทุกชิ้นจึงมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ ผู้ที่เคยสั่งทำไปแล้วมักจะกลับมาสั่งทำใหม่อีกจนเป็นลูกค้าประจำ และเมื่อใช้ทองของป้าเนื่องแล้วมักจะไม่ไปซื้อทองที่อื่น
ป้าเนื่อง เป็นศิลปินพื้นบ้านที่ยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ และยึดถือความดีงามเหล่านี้มาสร้างสรรค์งานของท่านเสมอมา งานแต่ละชิ้นจึงออกมาจากหัวใจ ประณีต บรรจง สมบูรณ์ในตัวเอง ถือเป็นสมบัติล้ำค่าไม่เฉพาะแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่ถือเป็นสมบัติของชาติและของโลกด้วย ผู้ที่ได้ชมผลงานของป้าเนื่อง จะได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านงานช่างทองกว้างขวางขึ้นทั้งในด้านคุณค่าและความงาม เนื่องจากผลงานของท่านสามารถแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างลวดลายทองกับธรรมชาติ และความคิดในการสร้างสรรค์เครื่องประดับอันมีค่านี้ได้อย่างน่าสนใจ กล่าวได้ว่าผลงานของป้าเนื่อง ได้สืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่คู่ชาติ และยังเป็นสื่อนำในการพัฒนาด้านศิลปะและวัฒนธรรมของชาติด้วย ป้าเนื่อง แฝงสีคำ จึงมิใช่บุคคลที่เป็นความภาคภูมิใจของคนในตระกูลเท่านั้น หากแต่ยังเป็นบุคคลตัวอย่างที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวเพชรบุรีด้วย



บรรณานุกรม

“ทองสัมฤทธิ์.” อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางสาวไกร ทองสัมฤทธิ์. ๓๐ เมษายน
๒๕๔๓ เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๕๔๓.
บัวไทย แจ่มจันทร์. “ช่างเมืองเพชร.” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพผู้ช่วยศาสตราจารย์
บัวไทย แจ่มจันทร์. ๒๑ มิถุนายน ๒๕๓๕. เพชรบุรี : เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๕๓๕.
วรรณี วิบูลย์สวัสดิ์. “หัตถกรรมพื้นบ้าน,” ศิลปหัตถกรรม. ๙, ๕ (มีนาคม ๒๕๓๓) : ๓๑.
วัฒนะ จูฑะวิภาต. ศิลปหัตถกรรมของช่างทองเมืองเพชร : ความเป็นมาและสภาพปัจจุบัน.
กรุงเทพฯ อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ, ๒๕๓๕.
วิมล พวงทอง, สมปรารถน์ เสาวไพบูลย์ และ ทวีป เทวิน. จังหวัดเพชรบุรี. เพชรบุรี :
เพชรภูมิการพิมพ์, ๒๕๔๐.
ศักดา ศิริพันธุ์, บรรณาธิการ. เพชรบุรี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ :
ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๔๓.
สุดารา สุจฉายา, บรรณาธิการ. เพชรบุรี. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๔๗.
สัมภาษณ์ นางเนื่อง แฝงสีคำ และ นางสาวมณฑา แฝงสีคำ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น